ลิฟท์ดับเพลิง

ลิฟท์ดับเพลิง มักจะพบเห็นได้ใน “อาคารสูง” ซึ่งก็คือ อาคารที่คนสามารถเข้าไปอยู่หรือเข้าไปใช้สอยได้ โดยมีความสูงตั้งแต่ 23 เมตร ขึ้นไป ส่วนการวัดความสูงของอาคารนั้นจะวัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงดาดฟ้า สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด  กฏหมายได้กำหนดไว้ว่า อาคารสูงต้องมีลิฟท์ดับเพลิงอย่างน้อยหนึ่งชุด  ลิฟท์ดับเพลิงต้องจอดได้ทุกชั้นของอาคาร และต้องมีระบบควบคุมพิเศษสำหรับพนักงานดับเพลิงใช้ขณะเกิดเพลิงไหม้โดยเฉพาะ บริเวณห้องโถงหน้าลิฟท์ดับเพลิงทุกชั้นต้องติดตั้งตู้สายฉีดน้ำดับเพลิงหรือหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงและอุปกรณ์ดับเพลิงอื่นๆ

ห้องโถงหน้าลิฟท์ดับเพลิงทุกชั้นต้องมีผนังหรือประตูที่ทำด้วยวัสดุทนไฟปิดกั้นมิให้เปลวไฟหรือควันไฟเข้าได้ มีหน้าต่างเปิดออกสู่ภายนอกอาคารได้โดยตรง หรือมีระบบอัดลมภายในห้องโถงหน้าลิฟท์ดับเพลิงที่มีความดันลมขณะใช้งานไม่น้อยกว่า 3.86 เมกะปาสกาลมาตร และทำงานได้โดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเพลิงไหม้

ระยะเวลาการเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องของลิฟท์ดับเพลิงระหว่างชั้นล่างสุดกับชั้นบนสุดของอาคารต้องไม่เกินหนึ่งนาที ทั้งนี้ในเวลาปกติลิฟท์ดับเพลิงสามารถใช้เป็นลิฟท์โดยสารได้

การตรวจสอบระบบลิฟท์ดับเพลิง

ทำการตรวจสอบสภาพทั่วไปด้วยสายตาและเครื่องมือพื้นฐาน พร้อมทำการทดสอบการทำงานของลิฟท์ โดยควรจะทำการตรวจสอบให้ครอบคลุมรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ตรวจสอบสภาพโถงลิฟท์ดับเพลิง ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากควันไฟ ตามข้อกำหนดของกฏหมายและมาตรฐาน
  • ตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ระบบความปลอดภัยในโถงลิฟท์ตามข้อกำหนดของกฎหมาย
  • ตรวจสอบสภาพห้องเครื่องลิฟท์ พร้อมระบบความปลอดภัยในห้องเครื่องลิฟท์
  • ตรวจสอบสภาพการป้องกันน้ำไหลลงสู่ปล่องลิฟท์
  • ทดสอบการทำงานของลิฟท์ดับเพลิงในภาวะฉุกเฉิน ที่ต้องได้รับการกระตุ้นจากระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้
  • ตรวจสอบแหล่งจ่ายไฟที่จ่ายให้กับลิฟท์ดับเพลิงต้องเป็น 2 แหล่งจ่ายโดยเป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าปกติและแหล่งจ่ายในสภาวะฉุกเฉินเมื่อแหล่งจ่ายไฟฟ้าปกติล้มเหลว
  • ตรวจสอบการดูแลรักษา ซ่อมบำรุง และการทดสอบระบบในอดีตที่ผ่านมา

ความต้องการตามข้อกำหนดระบบลิฟท์ดับเพลิง

ความต้องการตามข้อกำหนดหรือหลักการพื้นฐานในการจัดเตรียมเส้นทางหนีไฟให้ได้มาตรฐานมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยต่อกาใช้งานมีดังนี้

อาคารสูงจะต้องมีลิฟท์ดับเพลิงอย่างน้อย 1 ชุด เพ่อให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถใช้งานได้ในกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้ตลอดเวลา
ระบบลิฟท์ดับเพลิงจะต้องมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้เพื่อการเดินทางไประงับเหตุในพื้นที่ชั้นใดๆได้
หน้าลิฟท์ดับเพลิงทุกชั้นจะต้องมีโถงลิฟท์ดับเพลิงที่สามารถป้องกันควันไฟได้ เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง

หมายเหตุ

เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะจอดลิฟท์ชั้นต่ำกว่าชั้นที่เกิดเหตุประมาณ 1-2 ชั้น แล้วแต่เหตุการณ์ แล้วตั้งฐานปฏิบัติการในชั้นนั้น จากนั้นจึงส่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงขึ้นบันไดไประงับเหตุ